เช่าซื้อคืออะไร?

 เช่าซื้อ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572-574
 

เช่าซื้อคืออะไร
เช่าซื้อ เป็นเอกเทศสัญญาที่นิยมทำกันแพร่หลายในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อสินค้าที่มีราคาสูง โดยวิธีการซื้อขายธรรมดา จึงหันมาทำสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อสามารถผ่อนชำระราคาได้ในระยะเวลานาน เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวดๆ จนครบกำหนดตามสัญญาผู้เช่าซื้อก็จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไป แต่มีข้อเสียคือ ผู้เช่าซื้อจะต้องซื้อสินค้าดังกล่าวในราคาที่สูงกว่าซื้อด้วยเงินสด เนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อได้คิดดอกเบี้ยตามเวลาผ่อนชำระรวมเข้าไปกับราคาขาย
 
สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขผู้เช่าจะต้องใช้เงินเป็นงวดๆ เช่น นาย ก. เกษตรกรอยากได้เครื่องสูบน้ำมาใช้ในการทำเกษตรกรรม ถ้าซื้อเป็นเงินสดจะมีราคา 6,000 บาท แต่นาย ก. ไม่มีเงินสดจะชำระจึงได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทผู้ขายเครื่องสูบน้ำว่านาย ก. จะชำระงวดแรกเป็นเงิน 2,000 บาท และจะชำระอีกเดือนละ 400 บาทสิบเดือน ในเดือนที่ 11 จะชำระงวดสุดท้าย 1,000 บาท แล้วนาย ก. จะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องสูบน้ำทันทีจะเห็นได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาผสมระหว่างสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขาย โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า
2. ผู้ให้เช่านำทรัพย์สินของตนให้ผู้เช่าไปใช้ประโยชน์
3. ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นแก่ผู้เช่าหรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า
4. ผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อเป็นคราวๆ (งวด) จนครบถ้วนตามที่ตกลงกันให้แก่ผู้ให้เช่า
 
แบบของสัญญาเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายคือผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ ต้องลงลายมือชื่อในสัญญาหากมิได้ทำเป็นหนังสือ หรือคู่สัญญาลงชื่อเพียงฝ่ายเดียว สัญญาจะตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข.โดยตกลงชำระค่าเชื่อซื้อเป็นรายเดือนเป็นเวลา 12 เดือน แต่สัญญาลงลายมือชื่อนาย ข. ผู้เช่าซื้อเพียงฝ่ายเดียว หลังจากนาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อจนครบ 12 เดือน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของ นาย ข. ไม่โอนเป็นของนาย ก. เพราะสัญญาเช่าซื้อลงลายมือชื่อนาย ข. ผู้ให้เช่าซื้อเพียงฝ่ายเดียว สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะเสียเปล่า การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) เช่น บ้านหรือที่ดิน แม้จะได้สัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือกันและผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วแต่การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ จนกว่าจะได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ป.พ.พ.ม. 1299)
 
เช่าซื้อต่างกับซื้อขายเงินผ่อน
เช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อยังอยู่กับเจ้าของ (ผู้ให้เช่าซื้อ) จนกว่าผู้เช่าซื้อจะชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน เพราะผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เช่าโดยมีคำมั่นว่าจะขายเท่านั้น ดังนี้ในระหว่างยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าของหากผู้เช่าซื้อนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปขายหรือจำนำจะมีความผิดอางอาญา
ซึ่งขายเงินผ่อน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อทันที ฉะนั้นผู้ซื้อเป็นเจ้าของทรัพย์สินในทันทีแต่มีข้อตกลงเรื่องการชำระราคาผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ ได้ ถ้าผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้วผู้เช่านำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปขายให้ผู้อื่นจะมีผลอย่างไร
 
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อโทรทัศน์สีจากนาย ข. ตกลงชำระเงินค่าเช่าเป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท นาย ก. ชำระค่าเช่าได้เพียง 1 เดือน ก็นำโทรทัศน์สีนั้นไปขายให้แก่นาย ค. นาย ค. ไม่ทราบมาก่อนว่าโทรทัศน์สีนั้น นาย ก. ไปเช่าซื้อมาจากนาย ข. แต่เข้าใจว่า นาย ก. เป็นเจ้าของโทรทัศน์สีเช่นนี้ นาย ข. จะเรียกโทรทัศน์สีคืนจากนาย ค. ได้หรือไม่ และนาย ค. มีสิทธิเรียกคืนจากใคร นาย ก. จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่
 
กรณีนี้เป็นสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในโทรทัศน์ยังอยู่ที่ผู้ให้เช่าซื้อคือนาย ข. นาย ก. เป็นเพียงผู้เช่าจึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น กรรมสิทะในโทรทัศน์จะโอนไปยังนาย ก. ก็ต่อเมื่อนาย ก. ได้ชำระเงินครบ 12 เดือนแล้ว ดังนั้น นาย ก. จึงไม่มีสิทธินำโทรทัศน์ไปขายให้กับนาย ค. นาย ค. แม้ว่าจะชำระเงินจนครบถ้วนให้แก่นาย ก. โดยสุจริตไม่ทราบมาก่อนว่า นาย ก. ได้เช่าซื้อโทรทัศน์จากนาย ข. ก็ตาม นาย ค. ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในโทรทัศน์นั้นตามหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน” นาย ข. จึงมีสิทธิเรียกให้นาย ค. ส่งมอบโทรทัศน์คืนจากนาย ค. ได้โดยไม่ต้องชดใช้เงินที่นาย ค. ต้องเสียไปให้กับนาย ก. แต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นาย ค. แม้ว่าจะต้องคืนโทรทัศน์ให้แก่นาย ข. นาย ค. ก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากนาย ก.ได้
ข้อยกเว้น แต่ถ้านาย ค. ซื้อโทรทัศน์มาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น นาย ค. ผู้ซื้อไม่จำต้องคืนโทรทัศน์ให้แก่นาย ข. เจ้าของโทรทัศน์เว้นแต่ว่านาย ข. จะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ส่วนนาย ก. มีเพียงสิทธิครอบครองโทรทัศน์เท่านั้น จึงไม่มีสิทธินำโทรทัศน์ไปขายให้ นาย ค. ดังนั้นการที่นาย ก. นำโทรทัศน์ไปขายให้แก่นาย ค. ย่อมมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งมีโทษจำคุก
 
สัญญาซื้อขายโดยผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ และตกลงให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อชำระเงินในงวดสุดท้ายต่างจากสัญญาเช่าซื้ออย่างไร
สัญญาซื้อขายโดยผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ และตกลงให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาในงวดสุดท้ายแล้ว เป็นสัญญาที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับสัญญาเช่าซื้อมากกล่าวคือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อได้ชำระเงินในงวดสุดท้ายแล้ว แต่ก็ยังแตกต่างกันกับสัญญาเช่าซื้อในสาระสำคัญกล่าวคือ สัญญาซื้อขายไม่มีลักษณะของสัญญาเช่าอยู่เลยแต่สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าบวกกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น ดังนั้นในสัญญาซื้อขายถ้าผู้ซื้อได้ชำระราคาไปบ้างแล้ว ต่อมาผู้ซื้อผิดสัญญาซื้อขาย และได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่ผู้ขายแล้วผู้ขายไม่มีสิทธิรับเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระไปแล้วจะต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อ แต่ผู้ขายมีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายจากผู้ซื้อได้ ส่วนสัญญาเช่าซื้อนั้น หากผู้เช่าซื้อผิดสัญญาผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้เช่าซื้อแล้วยังมีสิทธิรับเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระไปแล้วได้ด้วย
ผู้เช่าซื้อมีสิทธิและหน้าที่อย่างไร
ผู้เช่าซื้อมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อกลับคืนให้แก่เจ้าของ (ผู้ให้เช่า) โดยเสียค่าใช้จ่าย
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. ในราคา 120,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 1 หมื่นบาทเป็นเวลา 12 เดือน นาย ก.ใช้รถยนต์ได้ 5 เดือน โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไป 5 งวด เกิดเบื่อรถยนต์คันที่ตนเช่าซื้อจึงได้ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นาย ข. เช่นนี้ กฎหมายถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันระงับสิ้นไปเพราะการที่นาย ก. ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นาย ข.
 
เหตุที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อที่จะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามใจชอบ ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินก็เพราะสัญญาเช่าซื้อได้กำหนดค่าเช่าซื้อจากค่าเช่าบอกราคาทรัพย์สินนั้นเข้าไปด้วย จึงมีราคาสูงกว่าค่าเช่าทรัพย์สินธรรมดาตามสัญญาเช่าทั่วไป ผู้เช่าซื้อจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อใดก็ได้แต่ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของเอง
ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อแล้ว ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน (เจ้าของ) มีปัญหาว่าผู้เช่าซื้อจะต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่เจ้าของทรัพย์หรือไม่
 
ตัวอย่าง นาย ก.เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. ในราคา 120,000 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจำนวน 12 เดือน เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นาย ก. นำรถไปใช้เป็นเวลา 5 เดือน โดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่นาย ข.แต่อย่างใด ต่อมา นาย ก. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการนำรถยนต์ไปส่งมอบกลับคืนให้แก่นาย ข. ดังนี้ นาย ก. จะต้องชำระค่าเช่าซื้อ 50,000 บาทที่ค้างชำระให้แก่นาย ข.ด้วย
ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ(เจ้าของ) จนครบถ้วนด้วย นอกจากนี้ ในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรวมเอาสัญญาเช่าบวกคำมั่นว่าจะขายทรัพย์เข้าด้วยกัน ดังได้กล่าวมาแล้วดังนั้นผู้เช่าซื้อจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสมอด้วยวัญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองและ
ต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง ถ้าผู้เช่าซื้อไม่สงวนรักษาทรัพย์สินจนทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวให้แก่เจ้าของทรัพย์ด้วย
 
เจ้าของทรัพย์(ผู้ให้เช่าซื้อ) มีสิทธิและหน้าที่อย่างไร
     เจ้าของทรัพย์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีดังต่อไปนี้คือ
1. ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆกัน เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. ในราคา 120,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนรวม 12 เดือน เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 1 เดือน แล้วขาดส่งค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 2 เดือน ติดต่อกันเช่นนี้นาย ข. มิสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งแล้วผิดนัดไม่ชำระงวดหนึ่งเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หรือไม่
สำหรับกรณีนี้ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระเงินเพียงงวดเดียวสลับกับการชำระเงินงวดหนึ่งยังไม่เคยผิดนัดชำระเงิน
ถึงสองงวดติดกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องผิดนัดไม่ชำระเงินสองคราว (งวด) ติดต่อกันเจ้าของจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นเจ้าของจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
 
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อตู้เย็นจาก นาย ข. ในราคา 12,000 บาทตกลงชำระเงินเดือนละ 1,000 บาท รวม 12 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป นาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อเดือนมกราคมแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินงวดเดือนกุมภาพันธ์แล้วนาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อเดือนมีนาคม ต่อมาผิดนัดไม่ชำระเงินงวดเดือนเมษายนแล้วชำระเดือนพฤษภาคมเช่นนี้สลับกันไปจะเห็นได้ว่านาย ก. ยังไม่เคยผิดนัดสองงวดติดต่อกัน ดังนั้น นาย ข. จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ
ข้อยกเว้น แต่ถ้าสัญญาเช่าซื้อระบุไว้ว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเพียงงวดเดียวก็ให้ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อ ให้เจ้าของทรัพย์บอกเลิกสัญญาได้ ข้อตกลงเช่นนี้มีผลผูกพันคู่สัญญาได้ ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินเพียงงวดเดียวผู้ให้เช่าซื้อ (เจ้าของ) ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
เมื่อเจ้าของทรัพย์ผู้ให้เช่าซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินสองคราวติดกันแล้วเจ้าของทรัพย์มีสิทธิดังต่อไปนี้คือ
(1) ริบเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้มาแล้วก่อนบอกเลิกสัญญาได้ และ
(2) เจ้าของทรัพย์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้
 
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. เป็นเงิน 120,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท รวม 12 เดือน นาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อแล้วรวม 5 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาทแล้วนาย ก. ขาดส่งค่าเช่ารวม 2 เดือนติดต่อกัน นาย ข. จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามกฎหมาย นาย ข. มีสิทธิรับเงินค่าเช่าซื้อ 50,000 บาท ที่นาย ก.ได้ชำระไปแล้วได้ และยังมีสิทธิยึดครองรถยนต์กลับคืนมาจากนาย ก.ได้
มีปัญหาว่าในกรณีที่เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆ กัน เจ้าของทรัพย์ริบค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระไปแล้วและยึดทรัพย์กลับคืนมาแล้ว เจ้าของทรัพย์มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระได้หรือไม่
สำหรับปัญหานี้ กฎหมายได้บัญญัติไว้แต่เพียงว่าเจ้าของทรัพย์มีสิทธิริบเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระไปแล้วกับยึดทรัพย์สินคืนเท่านั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าของทรัพย์ในการเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย ดังนั้น เจ้าของทรัพย์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระได้ คงมีสิทธิแต่เพียงเรียกค่าที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์ตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้สอยทรัพย์สิน และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์สินนั้นจนเสียหายอันเนื่องจากการใช้ทรัพย์นอกเหนือจากที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา
 
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. ในราคา 60,000 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนทุกๆ เดือนเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท รวม 12 เดือน นาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท แล้วขาดส่งเป็นเวลา 5 เดือน ติดต่อกันคิดเป็นเงินค้างชำระ 25,000 บาท นาย ข.ไม่อาจเรียกเงินที่นาย ก. ค้างชำระจำนวน 25,000 บาทจากนาย ก. ได้คงเรียกได้แต่เพียงค่าเสียหายที่นาย ก. ใช้รถยนต์จนเสียหายนอกเหนือจากการใช้รถตามสัญญาและค่าที่นาย ก.ได้ใช้ทรัพย์สิน (รถยนต์) ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ค้างชำระดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินในคราวที่สุดเจ้าของทรัพย์ (ผู้ให้เช่าซื้อ) มีสิทธิอย่างไร
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. เป็นเงิน 60,000 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนทุกๆเดือนเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท รวม 12 เดือน นาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อรวม 11 เดือน ติดต่อกันเป็นเงิน 55,000 บาท แล้วนาย ก. ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 5,000 บาท นาย ข. จะมีสิทธิอย่างไรบ้าง ในกรณีตามตัวอย่าง นาย ข. เจ้าของรถยนต์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อรวม 11 เดือนที่นาย ก. ได้ใช้มาแล้วเป็นเงิน 55,000 บาท และมีสิทธิยึดรถยนต์คืนต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่งแล้ว กล่าวคือนาย ข. จะยึดรถยนต์คืนได้ต่อเมื่อพ้นเดือนที่สิบสามแล้ว
 
สรุปแล้วในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินในคราวที่สุด เจ้าของมีสิทธิดังต่อไปนี้คือ
 
(1) ริบเงินบรรดาที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้เงินมาแล้วทั้งหมดได้ และ
(2) กลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้เมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่งแล้ว
 
      ฉะนั้น ผู้เช่าซื้อจะต้องระมัดระวังการชำระเงินค่าเช่าซื้อในงวดสุดท้ายให้ดี เพราะมีผู้ให้เช่าซื้อที่ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าอาศัยข้อกฎหมายเช่นนี้เอาเปรียบผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นลูกค้าของตนด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับชำระเงินค่าเช่าซื้อในงวดสุดท้าย แล้วอ้างว่าลูกค้าของตนเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อทำการริบเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าได้ชำระไปแล้วทั้งหมดและยึดเอาทรัพย์สินคืนจากลูกค้า ดังนั้นผู้เช่าซื้อซึ่งประสบกับปัญหานี้ควรนำเงินไปวางไว้กับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานวางทรัพย์หรือที่จ่าศาลซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลจังหวัดในทุกจังหวัด เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อจะอาศัยกฎหมายเอาเปรียบกับผู้เช่าซื้อไม่ได้ หรือนำเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับการเช่าซื้อรายนี้
 
2. ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อที่สำคัญ เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อสำคัญ เจ้าของทรัพย์จึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ถ้าผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาเช่าซื้อในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญแห่งสัญญาเช่าซื้อแล้วผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่มีสิทธิบอกเบิกสัญญาได้ อย่างไรจึงจะถือว่าข้อสัญญาข้อใดเป็นข้อที่เป็นส่วนสำคัญของสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นเรื่องไป แต่ถ้าในสัญญาเช่าซื้อระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าข้อสัญญาใดเป็นข้อที่เป็นส่วนสำคัญแห่งสัญญาเช่าซื้อแล้วก็ไม่เป็นปัญหา กล่าวคือถ้าผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อที่ระบุไว้ว่าเป็นข้อสาระสำคัญแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
 
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. โดยได้ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อว่าให้นาย ก. ใช้โดยสารส่วนบุคคลเท่านั้น ห้ามไม่ให้นาย ก. นำรถยนต์ไปรับส่งผู้โดยสารสาธารณะ ถ้านาย ก. ฝ่าฝืนนำรถยนต์ไปรับส่งผู้โดยสารสาธารณะ ก็ถือว่านาย ก. กระทำผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ นาย ข. เจ้าของรถยนต์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ เพราะข้อสัญญาเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อสำคัญแห่งสัญญาเช่าซื้อตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากนาย ข. โดยระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อว่า นาย ก. จะต้องระมัดระวังรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยนาย ก. จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ถ้านาย ก. ใช้รถยนต์อย่างไม่ระมัดระวังและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ทำให้รถยนต์อยู่ในสภาพทรุดโทรม นาย ข. เจ้าของรถยนต์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ข้อสัญญาเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อสำคัญแห่งสัญญาเช่าซื้อ หากนาย ก. กระทำผิดสัญญาดังกล่าว นาย ข. ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
เมื่อเจ้าของทรัพย์สิน (ผู้ให้เช่าซื้อ) ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิดังนี้คือ
 
(1) ริบเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อมาแล้วก่อนบอกเลิกสัญญาได้ และ
(2) เจ้าของทรัพย์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้
 
เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่อย่างไร
 
เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้ว
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากนาย ข.เมื่อนาย ก. ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว นาย ข. จะต้องมีหน้าที่ไปจดทะเบียนสิทธิทางทะเบียนในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาให้แก่นาย ก. ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ค้นหาบทความ